ชุมชนเชียงแสน

Last updated: 29 มี.ค. 2565  |  4264 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ชุมชนเชียงแสน

ชุมชนเชียงแสน

ข้อมูลชุมชน: อำเภอเชียงแสน เป็นอำเภอเล็ก ๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ห่างจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ 59 กิโลเมตร เดินทางตามทางหลวงหมายเลข 1 จากตัวเมืองเชียงรายมายังอำเภอแม่จันประมาณ 30 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1016 อีกประมาณ 30 กิโลเมตร เชียงแสนเป็นเมืองเก่าแก่มากแห่งหนึ่งในภาคเหนือ เดิมชื่อ “เวียงหิรัญนครเงินยาง” ปัจจุบันยังมีซากกำแพงเมืองโบราณ 2 ชั้น และโบราณสถานหลายแห่งปรากฏอยู่ทั้งในและนอกตัวเมือง

วิถีท้องถิ่น: “เชียงแสน” เดิมคือ อาณาจักรใหญ่ที่สำคัญในดินแดนภาคเหนือ ทว่ากลับอาภัพดังเมืองที่ถูกสาปให้อยู่ภายใต้ ความตึงเครียดของคมหอกแห่งสงคราม และความอึมครึมของการค้าฝิ่นมาช้านาน ก่อนจะได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีร่องรอยของอดีตกาลเหลือไว้เป็นเครื่องเตือนใจ ให้ใครที่ใครจะศึกษาผ่านทาง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ได้เก็บเกี่ยวเป็นความรู้ไว้ หรือจะเดินทอดน่องท่องตัวอำเภอเชียงแสนในแบบสบายๆ ก็ยังคงมีกลิ่นอายของรากเหง้าวัฒนธรรมเก่าแก่เจือจางให้ได้เห็นเชียงแสนในวันนี้ ยังคงดำเนินตามวิถีที่เรียบง่ายแบบฝังรากลงลึกกับภูมิปัญญาท้องถิ่น การกิน การค้า สันทนาการ แม้ปากแม่น้ำสามเหลี่ยมทองคำจะยังคงคลาคล่ำไปด้วยกาสิโน โอ้อวดยวนเย้าเหล่านักเสี่ยงโชคจากพม่า ลาว และไทย จนกลายเป็นอีกหนึ่งวิถีชีวิตและภาพจำที่ติดตา

เส้นทางสายใหม่ที่ถูกตัดผ่านเข้าสู่ตัว อ.แม่สาย รองรับความสะดวกสบายในอนาคต ยังแฝงไว้ด้วยความท้าทาย ให้นักผจญภัยหัวใจแกร่งควบบิ๊กไบค์สองล้อสัญจรท่องเที่ยวเก็บเกี่ยวบรรยากาศเมืองเหนือ ที่เหลือคือการตาม รอยอารยธรรมเชียงแสน มรดกโลกล้ำค่าแห่งล่าสุดอายุ 750 ปี ที่ล่วงผ่านวาระการเฉลิมฉลองไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา อีกฟากหนึ่งสู่เชียงแสนที่สะดวกสบายกว่า หากเดินทางจากตัวเมืองเชียงรายเพียงไม่กี่อึดใจ ประตูสู่เชียงแสนด่านแรก คือเมืองเล็กๆ ที่สงบเงียบ เมื่อย่ำแรกในเมืองเชียงแสนอาจชวนให้แปลกตา หากพบว่าซากกำแพงเมืองโบราณรกร้าง ตามหัวมุมต่างๆ รอบเมืองยังคงหลอมรวมกับวิถีชุมชนสมัยใหม่ ใครก็ตามที่ไม่พิศมัยในวิถีการค้าและแหล่งบันเทิงร่วมสมัย

ภูมิปัญญาชาวบ้าน: เนื่องมาจากเชียงแสนหรือเมืองหิรัญยาง เป็นเมืองของอาณาจักรล้านนา มีกษัตริย์ปกครองสืบกันมา มีความเจริญทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และพุทธศาสนา มีอารยะธรรมสูงส่ง ทั้งด้านภาษา ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี เมื่อถึงพุธศักราช 2347 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งได้โปรดให้กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราชได้ยกทัพมาตีเมืองเชียงแสน และกวาดต้อนผู้คน 23000 คน ลงไปไว้เมืองเชียงใหม่ส่วนหนึ่ง เมืองน่านส่วนหนึ่ง เมืองลำปาง เมืองหลวงพระบาง ส่วนที่เหลือไป กรุงเทพ โปรดให้อยู่ที่เมืองราชบุรี และเมืองสระบุรี เมื่อไปก็ได้นำเอกลักษณ์ศิลปะทอผ้าเชียงแสนไปเผยแพร่ที่เมืองนั้นๆด้วย

ในปี พ.ศ. 2529 กลุ่มแม่บ้านสบคำได้รวมตัวกันและจัดตั้งกลุ่มทอผ้าด้วยกี่กระตุก โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนัก อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย เข้ามาทำการฝึกอบรมการทอผ้าแก่สตรีในหมู่บ้าน จำนวน 60 คน มีกี่ทั้งหมด 10 หลัง ทำการฝึกอบรมเป็นเวลา 1 เดือน หลังจากฝึกอบรม กลุ่มสตรีได้ทำการทอผ้าตลอดมาโดยมีนางอารีย์ ทองผาง เป็นประธาน กลุ่ม ลวดลายที่ทอกันนั้นได้แก่ ลายน้ำไหล ลายกี่ตะกอ ลายตาราง แต่มีปัญหาด้าน
การตลาด คือ ไม่มีสถานที่จำหน่าย

เมื่อปี พ.ศ. 2539 พระครูไพศาลพัฒนาภิรัต เจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาเงา ได้ศึกษา ประวัติเมืองเชียงแสน ทำให้ทราบว่าในสมัยอดีตมีการทอผ้าลวดลายเชียงแสนมาแต่ดั้งเดิม แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปแล้ว ท่านพระครูไพศาลพัฒนาภิรัตจึงได้ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อรวบรวมผ้าทอเชียงแสนและถิ่นใกล้เคียง จึงได้สืบแหล่งทอผ้าเชียงแสนพบว่า ปัจจุบันมีการทออยู่ที่ราชบุรี จึงได้เดินทางพร้อมด้วยสมาชิก เพื่อไปศึกษาลายผ้า และนำมาเป็นตัวอย่างในการฝึกทอผ้าที่อำเภอแม่แจ่ม จึงได้จัดตั้งกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองเชียงแสน มีสมาชิก 100 คน หลังจากนั้นในปี 2540 ศูนย์ ก.ศ.น. เชียงแสน ได้งบประมาณซื้อวัสดุและจัดหาครูมาสอน ทำให้กลุ่มอาชีพมีความเข็มแข็งขึ้นตามลำดับ สามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่สมาชิกใหม่ที่มีความสนใจได้บรรยากาศการเรียนภายในวัดพระธาตุผาเงา และ ก.ศ.น. อ.เชียงแสน จึงได้ร่วมมือกันจัดให้มีความหลากหลายเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายทั่วไปไม่จำเพาะเจาะจง
กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดขึ้นอยู่กับความสนใจและความต้องการของบุคคลนั้นๆ วัดพระธาตุผาเงา จึงเป็นศูนย์การเรียนรู้ หรือ learning complex หรือตักศิลาเชียงแสนโดยสมบูรณ์

สินค้าท้องถิ่น: อัตลักษณ์(เอกลักษณ์)/จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ลวดลายจะไม่เหมือนใคร ลวดลายดั้งเดิมสืบทอดจากปู่ย่า ของคนเชียงแสน มีอยู่ 5 ลายด้วยกัน ประกอบด้วย
1.2.1 ลายกาแล
1.2.2 ลายขอพันเสาร์
1.2.3 ลายไข่ปลา
1.2.4 ลายมะลิ
1.2.5 ลายเสือย่อย
เนื้อผ้าแน่นสีไม่ตก

 

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้